คุณคิดว่าถ้ากองหน้าหลุดเดี่ยวไปดวนกับกองหลัง 1 ต่อ 1 ในนาทีที่ 5 กับนาทีที่ 85 จะเหมือนหรือแตกต่างกัน เพราะอะไร.. ใช่ครับ เป็นสถานการณ์เดียวกันที่ไม่มีทางทำทุกอย่างเหมือนกันได้ 100% เพราะเวลาที่ต่างกัน พลกำลังที่เหลือต่างกัน ผลสกอร์ที่ต่างกัน อาจทำให้การตัดสินใจแตกต่างไปจากเดิม
หากเรามองสถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล นักกีฬาจำเป็นต้องใช้ทักษะต่างๆ เพื่อลงเล่นในสนาม ร่วมกับการตัดสินใจ อีกทั้งยังมีสิ่งแวดล้อมที่คอยกระตุ้นและมีผลต่อการเลือกทำทักษะนั้นๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่นักกีฬาจะเลือกใช้ทักษะตามสถานการณ์ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเรียนรู้อย่างไร วันนี้โค้ชเต๊ะจะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจกันครับ
“ สมองของเราไม่สามารถมองเห็นอนาคตได้ สมองจะจดจำจากประสบการณ์และความทรงจำที่เกิดขึ้นบ่อยๆคล้ายๆกัน แต่จะไม่มีเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน 100% ในทุกครั้ง ”
THE FOUR STAGES OF LEARNING ( 4 ขั้นตอนการเรียนรู้ )
Unconsciously incompetent / Ignorance ( ไม่รู้ว่าไม่มีความสามารถ )
ไม่รู้ว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรบางอย่างได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ว่ามันมีสิ่งนี้อยู่บนโลก ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการยิงประตูด้วยหลังเท้า เช่น คนที่ยิงประตูด้วยการใช้ปลายเท้า (ลูกจิ้ม) เนื่องจากพึ่งเริ่มเล่นฟุตบอล และไม่มีความรู้ว่า มีการยิงประตูด้วยหลังเท้าที่มีประสิทธิภาพ ความแม่นยำและสามารถกำหนดทิศทางได้ดีกว่าอยู่ ในขั้นนี้นักกีฬาต้องพยายามเปิดใจ รับความรู้จากโค้ชเพื่อก้าวไปสู่ขั้นที่ 2
Consciously incompetent / Awareness ( รู้ว่าไม่มีความสามารถ )
รู้ว่ามีบางสิ่งอยู่และรู้ตัวว่ายังไม่สามารถทำมันได้ ตัวอย่างเช่น รับรู้ว่าในกีฬาฟุตบอลมีทักษะการยิงด้วยหลังเท้า ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการยิงด้วยปลายเท้า แต่ยังไม่สามารถทำได้ ในขั้นนี้นักกีฬาจะเปิดรับความรู้ ขั้นตอนที่ถูกต้องในการยิงประตูด้วยหลังเท้า เช่น การวางเท้า การเกร็งข้อเท้า การออกแรง ตำแหน่งของเท้าและลูกบอล เพื่อพัฒนาไปยังขั้นที่ 3 ต่อไป
Consciously competent / Learning ( รู้ว่ามีความสามารถ )
สามารถทำอะไรบางอย่างได้แต่ต้องคิดเกี่ยวกับขั้นตอนในขณะที่ทำอยู่ เช่น สามารถยิงประตูด้วยหลังเท้าได้แล้ว แต่ต้องโฟกัสกับขั้นตอนการยิงในแต่ละครั้งอยู่ ยังเกิดข้อผิดพลาดในการยิงอยู่บ้าง แต่รู้ว่าทำผิดเพราะอะไรและสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดได้ด้วยตัวเอง เพื่อพัฒนาไปยังขั้นที่ 4
Unconsciously competent / Mastery ( ไม่รู้ว่ามีความสามารถ/มีความเชี่ยวชาญ )
สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้โดยไม่ต้องคิดถึงขั้นตอนการทำ (ทำได้โดยอัตโนมัติ) และสามารถโฟกัสเรื่องอื่นไปพร้อมๆกันได้ เช่น สามารถยิงประดูด้วยหลังเท้าได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ โดยสามารถสังเกตตำแหน่งการยืนของผู้รักษาประตูได้ในขณะเดียวกัน เพื่อให้โอกาสการทำประตูมีมากขึ้น
สำหรับนักกีฬาเยาวชนที่ได้รับการฝึกมาซักระยะแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นที่ 3 และ 4 เราในฐานะโค้ชจึงต้องออกแบบฝึกให้นักกีฬาได้รับประสบการณ์จากสถานการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้นักกีฬาได้รับข้อมูลเพิ่มเติมและส่งผลต่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น